ประติมากรรม

 
ประติมากรรมไทยที่เด่นๆ  ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธรูป พระพุทธรูป
ระยะแรกๆ นั้นมักทำจากหินแกะสลัก แต่หินมีข้อจำกัด พระพุทธรูประยะแรกจึงดูแข็งกระด้าง
หนาเทอะทะ ความสำเร็จในการทำพระพุทธรูปอย่างอ่อนช้อยสวยงามอยู่ที่ประติมากรรู้จักปั้นหุ่น
ขี้ผึ้งหรือดินเหนียวขึ้นก่อน แล้วสร้างแม่พิมพ์ครอบหุ่น เอาขี้ผึ้งออก จากนั้นเทโลหะหลอมเหลวเข้า
ไปแทน เช่น สำริด ทองคำ ทำให้ได้รูปแบบเหมือนหุ่นทุกประการ แต่คงทนถาวรมากกว่า และจัด
ท่าทางได้อย่างอิสระ ความสวยงามสละสลวยของพระพุทธรูปจึงนอกจากขึ้นอยู่กับทักษะฝีมือแล้ว
ยังขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุ ดังเช่น พระพุทธรูปแบบสุโขทัยซึ่งจัดว่าสวยงามที่สุด และสะท้อน
พุทธปรัชญาได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นวัสดุประเภทสำริด
       แม้พระพุทธรูปจะได้รับแบบอย่างจากอินเดีย และปรากฏขึ้นในอณาจักรโบราณมาก่อน แต่ก็
จัดได้ว่าพระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสนและสุโขทัยมีลักษณะเด่นชัด และแสดงถึงความ
เป็นไทยไว้ได้มากที่สุด อีกทั้งเป็นต้นแบบนำมาพัฒนาสู่ระยะหลังๆ แม้ยังมีร่องรอยพระพุทธรูป
สมัยก่อนหน้านี้บ้างก็ตาม แต่นำมาผสมผสานได้อย่างกลมกลืน ด้วยเหตุนี้จึงขอยกตัวอย่าง
รูปแบบพระพุทธรูปเชียงแสนและสุโขทัยเป็นสำคัญ 
      พระพุทธรูปเชียงแสนนั้นมีลักษณะเด่นคือ พระวรกายอวบอ้วนกำยำล่ำสัน พระอุระนูน
พระพักตร์กลม บนพระเศียรมีพระเกตุมาลา และรัศมีเป็นรูปต่อมกลมหรือมะลิตูม นอกจากนี้มี
พระพุทธรูปซึ่งได้รับแบบอย่างสุโขทัย แต่ส่วนใหญ่เป็นรุ่นหลัง แต่ทั้งสองนี้ก็มีพื้นฐานมาจาก
พระพุทธรูปในอินเดีย ผสมกับแนวคิดที่จะให้สอดคล้องกับพุทธลักษณะตามคัมภีร์มหาปุริส-
ลักขณะที่มีอยู่เดิม สำหรับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มีพระวรกาย
พ่วงพี มีพระพาหาใหญ่ พระพักตร์ค่อนข้างรี  มีรัศมีเป็นรูปเปลว มีทั้งแบบประทับยืน นั่ง 
เดิน และ นอน โดยเฉพาะแบบกิริยาย่างก้าวเดินหรือปางลีลา จัดได้ว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์
ขั้นสุดยอดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย หลังจากสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พุทธรูปไม่เปลี่ยนแปลง
มากนัก ส่วนใหญ่สืบทอดรูปแบบจากสมัยสุโขทัย หรือผสมผสานกับพระพุทธรูปสมัยทวารวดี
บ้าง ลพบุรีบ้าง มีที่โดดเด่นคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ซึ่งนิยมมากในสมัยอยุธยา
ตอนปลาย การทำพระพุทธรูปทรงเครื่องคงมีที่มาจากการเปรียบเทียบพระพุทธองค์ในฐานะ
เป็นกษัตริย์ตามพุทธประวัติ พระพุทธรูปเริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ ที่นำเอา
ศิลปะต่างชาติ ทั้งแบบจีน แบบตะวันตกเข้ามาผสม พระพุทธรูปแสดงสัดส่วน ความงดงาม
ตามธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำพระพุทธรูปที่เป็นพระพิมพ์ดินเผามาทำเป็นพระ
เครื่องมากขึ้น พระพิมพ์ถูกทำขึ้นพร้อมๆกับพระพุทธรูปมาทุกยุคทุกสมัย แต่การนำพระพิมพ์
มาทำพระทรงเครื่องเพิ่งเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา คงมีสาเหตุมาจากการขุดพบกรุ
พบพระพิมพ์จำนวนมาก ความนิยมนำพระพุทธรูปเก็บไว้ที่บ้านซึ่งเดิมอยู่ตามวัดเท่านั้น ประกอบ
กับความนิยมเครื่องรางของขลังซึ่งมีมาก่อน เช่น ตะกรุด ผ้าประเจียด รวมถึงพระกริ่งในฝ่าย
มหายานแบบตันตระ ซึ่งแพร่หลายตั้งแต่สมัยลพบุรีเป็นต้นมา ปัจจุบันพระเครื่องไม่เพียง
แต่จำลองพระพุทธองค์บางครั้งจำลองรูปเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงหรือบุคคลสำคัญ กลายเป็น
สิ่งของสะสมหรือจำหน่าย จากงานพุทธศิลป์แต่เดิมกลายเป็นพุทธพาณิชย์ 
     สำหรับประติมากรรมตกแต่งนิยมใช้ไม้ ดินและปูน โดยเฉพาะปูนปั้นนิยมใช้จนถึงปัจจุบัน
บางครั้งใช้กับพระพทธรูปขนาดใหญ่ ในอดีตปูนปั้นมักใช้ส่วนผสมของปูนขาว ทราย น้ำตาล 
กาว หนังสัตว์หรือยางไม้ สำหรับดินมีทั้งดินเผาดิบและดินเผาเคลือบ ประติมากรรมดินเผา
ที่มีชื่อเสียงอยู่ในสมัยสุโขทัยที่เรียกว่า " เครื่องสังคโลก " นอกจากเป็นภาชนะใช้สอยประเภท
ถ้วยชามแล้วยังมีเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรม เช่น ช่อฟ้า หางหงส์ บราลี เครื่องครอบหัวไม้
อีกทั้งเครื่องพิธีทางไสยศาสตร์ เช่น ตุ๊กตาเสียกบาล เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น