
ศาสนสถาน ได้แก่ วัดในพุทธศาสนา ซึ่งมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยทวารวดี และเปลี่ยนแปลง
ตลอดยุคสมัยต่างๆ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ที่สร้างขึ้นในสมัยแรกไม่ปรากฎเด่นชัด มาชัดเจนขึ้น
ตั้งแต่เชียงแสนเป็นต้นมา จากหลักฐานที่ปรากฎพบว่าวัดไทยนิยมแบ่งสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส
และเขตสังฆาวาส มีลานโล่งสำหรับประกอบพิธีกลางแจ้ง ในระยะแรกๆ มีอาคาร สิ่งก่อสร้างเพียง
ไม่กี่หลัง ส่วนใหญ่เป็นสถูปและวิหาร สำหรับสถูปนั้นมีความสำคัญตั้งแต่ริเริ่มสร้างวัด วัดระยะแรก
นิยมสร้างสถูปเป็นศูนย์รวมความศรัทธาหรือศูนย์กลางของวัด ส่วนวิหารอาจเป็นที่พักของพระภิกษุ
และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือประกอบพิธีในร่ม สถูปมักสร้างอยู่หลังวิหาร การกราบไหว้จะ
หันหน้าไปสู่พระพุทธรูปและสถูปซึ่งอยู่ด้านหลัง ต่อมาได้เพิ่มอาคารอื่นๆ เพื่อสอดคล้องกับหน้าที่
ใช้สอยซึ่งมีมากขึ้น อาคารที่มีบทบาทตามมาก็คือโบสถ์ แต่เดิมโบสถ์เป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ เริ่ม
เพิ่มความสำคัญในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมื่อนิยมส่งบุตรหลานบวชเรียน ทำให้มีพระสงฆ์มากขึ้น
และต้องใช้โบสถ์ประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ โบสถ์จึงกลายเป็นอาคารสำคัญแทนวิหารจนถึง
ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีอาคารหลังอื่นๆ เช่น ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอฉัน หอระฆัง เป็นต้น
สถูป มีหลายรูปแบบ แต่ละรุปแบบแสดงให้เห็นถึงรสนิยมทางความงาม และการปรับปรุงจาก
ต้นแบบเดิม รูปแบบสถูปในสถาปัตยกรรมไทยมีดังนี้
- แบบระฆัง ในบรรดารูปแบบต่างๆ ก็ดูเหมือนว่า สถูปทรงระฆังมีลักษณะใกล้เคียงกับสถูปทรง
ลังกามากที่สุด มีฐาน องค์ระฆังกลม บังลังก์ มียอดทรงกรวยแหลม ที่ประกอบด้วยปล้องไฉนและ
ปลี บางครั้งจึงเรียกว่า สถูปแบบนี้ว่า " ทรงลังกา " นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เพิ่มจากสถูปพุกามในพม่า
แต่บางครั้งก็ดัดแปลงเป็นทรงสามเหลี่ยม เช่น องค์ระฆังแปดเหลี่ยม หรือสิบสองเหลี่ยม
- แบบสี่เหลี่ยมย่อมุม เป็นสถูปที่ดัดแปลงจากทรงระฆัง โดยการย่อมุมทั้งสี่ของสถูปให้เห็นมุมย่อย
อีกชั้นหนึ่ง หากแตกย่อยมุมละสามเรียกว่า สถูปไม้สิบสอง หากแตกมุมย่อยมุมละห้าเรียกว่า สถูป
ไม้ยี่สิบ สถูปแบบอื่นๆ โดยทั่วไปนิยมย่อมุมเช่นกัน แต่ทำเฉพาะฐานผ่านองค์ระฆังจนถึงบังลังก์
จากเดิมย่อมุมไม้สิบสองก็เพิ่มจำนวนมุมย่อยขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งก็นำไปใช้กับเสา อย่างไรก็ตาม
การเรียกย่อมุมเป็นเพราะความเคยชิน ทั้งๆที่มุมเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่เป็นกระเปาะที่
ย่านกลางของด้าน การเพิ่มกระเปาะทำให้เกิดมุมเพิ่มขึ้น การพิจารณากระบวนการสร้างดังกล่าว
จึงควรเรียกมุมเพิ่มหรือยกมุมมากกว่า ส่วนการเรียกไม้ทั้งๆที่ก่ออิฐปูนนั้น เป็นเพราะหยิบยืมคำ
ของ งานไม้มาใช้
- แบบทรงเครื่อง เป็นสถูปย่อมุมอีกรูปแบบหนึ่ง แต่มีลักษณะเด่นเฉพาะกล่าวคือ มักใช้ยอด
บัวเถาหรือคลุ่มเถาแทนปล้องไฉนแบบสถูปทั่วๆไป มีชุดฐานสิงห์แทนชุดฐานบัว บนชุดฐานสิงห์
มีบัวกลุ่มหรือบัวคลุ่มอีกชั้นหนึ่งก่อนขึ้นไปองค์ระฆัง ฐานสิงห์ส่วนใหญ่ซ้อนกัน 3 ชั้นและย่อมุม
พร้อมกับองค์ระฆัง บนองค์ระฆังนิยมประดับด้วยลายคอเสื้อ อีกทั้งประดับลวดลายอื่นๆ อย่าง
มากตามส่วนประกอบต่างๆด้วยปูนปั้น กระเบื้องสี หรือติดทองจังโก
- แบบปราสาทยอด คำว่าปราสาท มีความหมายในรูปแบบเรือนที่มีหลายชั้นซับซ้อนกันหรือมี
หลังคาลาดหลายชั้นลดหลั่นกัน จึงเรียกสถูปแบบนี้ว่าทรงปราสาทด้วย สถูปทรงปราสาทมี
หลายรูปแบบ มักแบ่งเป็นชั้นๆ สัดส่วนเรือนธาตุขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐาน อาจมีคูหาอยู่ภายใน
ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือมณฑป แต่ส่วนใหญ่เป็นทรงมณฑป ที่มีซุ้มจระนำ
ยื่นออกทั้งสี่ด้าน มีเรือนยอดซ้อนชั้น เหนือสุดเป็นองค์ระฆังต่อยอดกรวยแหลม
- แบบปรางค์ มีรุปแบบคล้ายฝักข้าวโพด เป็นสถูปที่ดัดแปลงมาจากปราสาทขอม แต่มีรูป
ทรงเพรียวและชะลูดกว่า แม้สูงเพรียวแต่ยอดปรางค์จะป้านซึ่งต่างจากสถูปทั่วไปที่มียอด
แหลมนอกจากนี้จะพบว่า มุขจะหดสั้นปรับเข้าหาเส้นรอบรูปของปรางค์ ในขณะที่ปราสาท
ขอมมักทำมุขยื่นออกมา นิยมประดับนพศูลหรือฝักเพกาบนยอด ปราสาทขอมจึงถือเป็น
ต้นแบบสำคัญของการพัฒนาเป็นแบบปรางค์ไทย
- แบบยอดดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย และยังเผยแพร่สู่
ล้านนาทางภาคเหนือ รูปแบบสถูปนี้โดยทั่วไปประกอบด้วยฐานเขียง ฐานบัว เฉพาะฐานบัว
ชั้นบนย่อมุมและยาวต่อเนื่องไปถึงรูปทรงแท่งที่รองรับยอดดอกบัวตูม นั่นเป็นสถูปที่มีลักษณะ
เฉพาะและห่างไกลจากอิทธิพลภายนอก
สำหรับโบสถ์และวิหารในแง่สถาปัตยกรรมไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งโบสถ์และวิหารนิยม
ทำหลังคาซ้อน เช่น สองซ้อน สามซ้อน หรือสี่ซ้อน แต่ละซ้อนยังแบ่งออกเป็นตับหลายตับ การ
ทำหลายชั้นซ้อนและมีหลายตับจึงเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทย มักทำ
หลังคาทรงจั่ว หร้อมกับการตกแต่งหน้าจั่วอย่างงดงาม แต่โบสถ์จะมีข้อสังเกตที่มักจัดตั้งซุ้ม
พัทธสีมา เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตสังฆกรรมโดยรอบ โบสถ์และวิหารมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบ
มีฝาผนังกั้นหรือไม่มี ในสมัยสุโขทัยไม่นิยมทำฝาผนัง หรือ ทำฝาผนังแต่เปิดช่องไว้แคบๆ โดย
ปราศจากบานหน้าต่าง การทำบานหน้าต่างเพิ่มเริ่มขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมา
วัดเริ่มแรกนิยมสร้างวิหารเตี้ยๆ ติดสถูปโดยรอบ ที่เรียกว่าวิหารคด เพื่อให้พระสงฆ์เดินจงกรม
หรือ ทักษิณาวัตรรอบองค์สถูป ต่อมาได้สร้างห่างออกจากองค์สถูป ทำให้เกิดลานโล่งรอบสถูป
โดยมีวิหารคดเป็นเสมือนกำแพงกำหนดขอบเขต และช่วยปกป้องสิ่งรบกวนภายนอก อย่างไร
ก็ตาม มิได้ทำกับสถูปเท่านั้น ยังพบว่าบางแห่งสร้างวิหารคดล้อมรอบโบสถ์หรือวิหารใหญ่ด้วย
องค์ประกอบพื้นฐานของโบสถ์และวิหารตามประเพณีไทยคือ การประดับช่อฟ้า ใบระกา
และหางหงส์ ที่เรียกเครื่องตกแต่งนี้ว่า " เครื่องลำยอง " ส่วนต่างๆ เหล่านี้สันนิษฐานว่าได้รับ
อิทธิพลจากเทวาลัยแบบอินเดียใต้ แล้วปรับเปลี่ยนใหม่ ช่อฟ้าคลี่คลายมาจากเกียรติมุขหรือ
หน้ากาล ใบระกาคลี่คลายมาจากสันแฉกๆ ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับสายรุ้ง สายฝน หรือ
พญานาค ตามคติฮินดู แต่ของไทยมีรูปทรงเรียวเล็กกว่า ส่วนหางหงส์คลี่คลายจากหางมกร
หรือมังกรหันหน้าเข้า เพราะตามคติฮินดูนั้นมีงวงแบบช้าง มีปากและตาแบบจระเข้ ขาแบบ
ราชสีห์ และหางแบบหงส์ นอกจากนี้ยังนิยมประดับลวดลายตามหน้าบัน ด้วยวิธีแกะสลักไม้
ผสมกับการลงรักปิดทอง เนื่องจากสถาปัตยกรรมไทยไม่นิยมก่ออิฐถึงยอดจั่วแบบผนังหุ้มกลอง
แต่ใช้แผงหน้าบันไม้ปิดกั้นแทน หากเป็นวัดหลวงมักประดับรูปเทพ มีลายก้านขดหรือลายกนก
เป็นส่วนประกอบ เช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แสดงถึงคติของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู
ที่ยังสอดแทรกในงานสถาปัตยกรรมไทย ได้หน้าบันอาจประดับด้วยสาหร่าย รวงผึ้งหรือ แผง
แรคอสอง ปลายเสามีเครื่องค้ำยันที่เรียกว่า " คันทวย " ซุ้มประตูหน้าต่างมีหลายรูปแบบ เช่น
แบบมณฑป แบบบันแถลง หรือแบบมงกุฎ ซุ้มเหล่านี้มักแกะสลักไม้อย่างสวยงามหรือลงรักปิด
ทองเช่นกัน แต่สมัยหลังๆ มักใช้เป็นปูนปั้นแทนการแกะสลักไม้
องค์ประกอบของโบสถ์และวิหาร แต่ละภูมิภาคยังแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือนิยมทำโก่งคิ้ว
ประดับอยู่บนที่ว่างระหว่างเสาด้านหน้าแทนตำแหน่งสาหร่ายรวงผึ้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นิยมจำลองรูปปราสาทยอดแหลมตั้งอยู่ใจกลางสันหลังคาโบสถ์หรือสิม ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก
ลาว แทนความหมายศูนย์กลางจักรวาล ภาคกลางโบสถ์วิหารบางแห่งทำฐานอ่อนโค้ง แบบ
ตกท้องช้างหรือท้องสำเภา นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ในอดีต
มักประดับบราลีตามแนวสันหลังคา ซึ่งรับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมขอม โดยมีต้นแบบจาก
อินเดียใต้ แต่ปัจจุบันไม่นิยมแล้ว
บ้านพื้นเมือง
บ้านพื้นเมืองไทยส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ เพราะไม้เป็นวัสดุหาง่ายในเขตร้อนชื้น มีทั้งชนิด
ที่ปลูกชั่วคราวแบบเรือนเครื่องผูก โดยนำวัสดุธรรมชาติง่ายๆ เช่น ไม้ไผ่ ต้นหมาก ใบจาก
หญ้าแฝก ใช้ตอก หวายหรือปอเป็นเชือกผูกยึด และชนิดปลูกขึ้นถาวรแบบเรือนเครื่องสับ
โดยนำไม้เนื้อแข็งถากเป็นเหลี่ยมเป็นสันให้เรียบ ยึดติดกันด้วยวิธีเข้าไม้ บาก หรือ ทำเดือย
แต่โดยทั่วไปทั้งสองชนิดยกใต้ถุนสูง หลังคาจั่วลาดชัน เพื่อบรรเทาความร้อนหรือป้องกันฝน
รั่วซึม และมักทำชานยื่นออกจากตัวบ้าน อย่างไรก็ตาม บ้านพื้นเมืองแต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบ
ปลีกย่อยแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น